วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2557

วันนี้...ที่ชายแดนภาคใต้ "ไม่มีครู"



วันนี้...ที่ชายแดนภาคใต้ "ไม่มีครู"



     สถานการณ์ความไม่สงบในเขตพื้นที่ชายแดนภาคใต้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการจัดการศึกษา ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้นมีทั้งปัญหาที่เกี่ยวกับครูผู้สอนและปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวนักเรียนบัณฑิตอาสากับบทบาทครูจำเป็น
     ความหวาดวิตกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้ครูจำนวนมากขอย้ายออกจากพื้นที่ โรงเรียนบางแห่งต้องหยุดการเรียนการสอน นักเรียนไม่ได้เรียนหนังสือและเกิดปัญหาขาดแคลนครูตามมา ซึ่งในส่วนภาครัฐและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เอง ได้เร่งแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มผู้ช่วยครู หรือครูบัณฑิต ซึ่งเป็นบัณฑิตอาสา อยู่ในพื้นที่ปฏิบัติงาน โดยทำการประสานงานกับโครงการบัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิ ซึ่งสนับสนุนโดย ศอ.บต. เพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนครูในโรงเรียนที่มีคุณครูขอย้ายออกจากพื้นที่อย่างไรก็ตาม จากการสัมภาษณ์บัณฑิตอาสาที่ลงไปทำหน้าที่คุณครูจำเป็นนั้น หลายเสียงพูดตรงกันว่า แม้จะมีบัณฑิตอาสา แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ครูอาสาเหล่านี้หลายคนยังขาดความรู้เรื่องทักษะด้านการสอน และรู้สึกไม่ค่อยชอบงานลักษณะนี้ แต่ที่ต้องมาทำหน้าที่ เพราะถูกกำหนดบทบาทเพิ่ม จากเดิมงานบัณฑิตอาสาเป็นงานในลักษณะประสานงานในพื้นที่ มีค่าตอบแทนเดือนละ 5,000 บาท แต่หากมาเป็นครูบัณฑิตจะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มอีก 2,500 รวมเป็นเงิน 7,500 บาท ซึ่งการนำบัณฑิตอาสามาทำงานการสอนที่โรงเรียนนั้นเกรงว่านักเรียนจะไม่รับความรู้อย่างเต็มที่นักเรียนต้องขาดเรียน
     นอกจากการขาดแคลนครูแล้ว ความไม่สงบทำให้ต้องมีการปิดการเรียนการสอนอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นผลเสียกับเด็กๆ เอง ซึ่งเด็กๆ ต่างบอกเล่าความรู้สึกให้ฟังกันว่า“หนูอยากไปโรงเรียนทุกวัน หนูสนุกที่ได้พบเพื่อนๆ พบครู และอยู่ด้วยกันจนถึงเวลาเลิกเรียน หนูไม่อยากให้ใครมายิงครู ทำเผาโรงเรียนของเรา หนูอยากวิ่งเล่นได้ ครูมาสอนได้โดยไม่ต้องกลัวใคร” น้องอาลา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 อายุ 14 ปี จากโรงเรียนในพื้นที่ อ.กรงปินัง จ.ยะลา บอก ขณะที่น้องซัน ชั้นประถมศึกษา 6 อายุ 12 ปี จากโรงเรียนในพื้นที่ อ.รามัน จ.ยะลา ก็บอกว่า ผมรู้สึกโกรธถ้าใครมายิงครูของผม โกรธถ้าใครมาเผาโรงเรียนของผม ผมกับเพื่อนๆ จะช่วยดูแลโรงเรียนของผมให้ปลอดภัยเต็มที่ โรงเรียนคือบ้านของผมครับ ส่วนน้องใอดา ชั้นประถมศึกษา 6 อายุ 12 ปี จากโรงเรียนในพื้นที่ อ.เมือง จ.ปัตตานี บอกว่า “หนูไม่อยากให้โรงเรียนปิดเลย หนูเหงามาก หนูยังเรียนไม่เข้าใจ โรงเรียนก็ต้องปิดอีก ปิดหลายครั้ง จะปิดเทอมแล้ว หนูยังเรียนไม่เข้าใจเลยค่ะ” น้องมี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อายุ 15 ปี จากโรงเรียนในพื้นที่ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส เองก็เช่นกัน เขาแสดงความเห็นว่า ผมไม่อยากให้โรงเรียนปิดบ่อยๆ ผมอยากเรียนเก่งๆ ถ้าโรงเรียนปิดบ่อยๆ ผมไม่รู้จะทำอย่างไร ตอนนี้เวลาเรียนเหลือน้อยมาก เข้าช้า เลิกเร็ว ผมกับเพื่อนจะไปสอบแข่งกับคนอื่นๆ ได้อย่างไร เด็กกำพร้าเพิ่ม ขาดคนดูแลหลายครอบครัวต้องสูญเสียบุคคลที่เป็นหลักของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อหรือแม่ก็ตามไปกับเหตุการณ์ความไม่สงบ ทำให้เกิดเด็กกำพร้าที่ต้องไปอาศัยอยู่กับญาติพี่น้อง เมื่อเสียผู้นำไปเด็กๆ ก็จะมีปัญหาเรื่องการศึกษา ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลก็ทำการช่วยเหลือเรื่องค่าเล่าเรียนให้กับเด็กที่สูญเสียทุกคน แต่ก็ยังขาดแคลนค่าใช้จ่ายที่จะใช้ในชีวิตประจำวัน เด็กๆ จึงต้องหารายได้เพิ่มส่วนเด็กที่ไม่มีโอกาสได้มาเรียนอีก หน่วยงานรัฐก็ได้ประสานงานในเรื่องการฝึกทำงานให้สอดคล้องกับความถนัดของแต่ละคน ให้สามารถประกอบอาชีพ มีรายได้ ดูแลตัวเองและครอบครัวได้ นอกจากสภาพการณ์ขาดแคลนคนดูแลแล้ว เด็กและเยาวชนยังมีปัญหาเรื่องขาดพื้นที่ส่วนกลางให้มีโอกาสได้มาแสดงความรู้ ความสามารถ ขาดแคลนแหล่งเรียนรู้ต่างๆ รวมทั้งยังมีปัญหาเรื่องการระบาดของยาเสพติดอีกด้วยจะเห็นว่า 9 ปีของสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้นั้น ประเทศไทยมีแต่คำว่าสูญเสียในทุกภาคส่วน และการขาดแคลนครู การประสบปัญหาของเด็กในเรื่องต่างๆ ก็เป็นหนึ่งในหลายปัญหา แต่ทว่าส่งผลกระทบกระเทือนต่อสังคมอย่างมากมาย แม้ว้าวันนี้เรายังมีคนที่เป็นบัณฑิตอาสามาช่วย แต่หากความไม่สงบยังมีไม่สามารถยุติได้ เมื่อนั้น ภาคใต้อาจจะเป็นพื้นที่ที่ไม่มีครูและนักเรียนตลอดไปก็เป็นได้.